วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รายละเอียดประเทศเวียดนาม


ประเทศเวียดนาม


ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๗,๒๐๗ ตารางไมล์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน มีรูปร่างยาวโค้ง ตอนกลางแคบทอดเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ เป็นระยะทางประมาณ ๑,๓๕๐ ไมล์  และมีฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑,๔๐๐ ไมล์ รูปร่างคล้ายพัดจีน มีด้ามอยู่ทางตอนใต้ มี
อาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ คือ
                ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศจีน ในเขตแคว้นยูนาน กวางสี และกวางตุ้ง
                ทิศตะวันออก  จรดอ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีน
                ทิศใต้  จรดทะเลจีน และอ่าวไทย
                ทิศตะวันตก  จรดประเทศกัมพูชา และประเทศลาว
ลักษณะภูมิประเทศ







ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับจีน จะมีภูเขามากที่สุด เส้นทางคมนาคม มีแต่ตามช่องเขาต่าง ๆ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ภาคใต้เป็นที่ราบริมฝั่งทะเล ทำการเพาะปลูกได้ตามพื้นที่ปากแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่
            พื้นที่ในแคว้นตังเกี๋ย พื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันตกเป็นทิวเขา แต่ละทิวเขาทอดจากตะวันตก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ทางชายแดน ที่ติดต่อกับ
ประเทศจีน ในเขตมณฑลยูนาน และกวางสีเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีหน้าผาชันและเหวลึก มียอดเขาสูงเรียงรายกันไป สิ้นสุดในแนวของหมู่เกาะต่าง ๆ ในอ่างตังเกี๋ย
                ทิวเขาอันนัม  ซึ่งเป็นแกนของพื้นที่ ประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน และมีที่ราบสูงหลายแห่งอยู่ติดต่อกัน บางแห่งมีความสูงถึง ๓,๑๔๐ เมตร ทิวเขาเหล่านี้แผ่กว้างออกไปในพื้นที่ตอนเหนือ และตอนใต้
                ที่ราบสูงตอนเหนือ  อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำแดง เป็นบริเวณที่มีหินเขาอัคนี ประกอบด้วยที่ราบสูงที่มีหินทราย และหินปูน ส่วนใหญ่เป็นป่าเขามีบางส่วนเป็นที่นา
                พื้นที่ลุ่มตังเกี๋ย  เป็นพื้นที่ลุ่มบริเวณปากแม่น้ำแดง รวมกับที่ลุ่มปากแม่น้ำอื่น ๆ อีกหลายสาย ทางภาคเหนือโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเป็นดินทรายที่ถูกแม่น้ำต่าง ๆ พัดพามาสะสมไว้ จึงเป็นบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำแดงมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรมพื้นที่ลุ่มบริเวณดังกล่าว โดยทั่วไปมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑๐ ฟุต มีคลองส่งน้ำเป็นจำนวนมาก แยกจากแม่น้ำแดง นอกจากนั้นยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ อีกหลายสายเช่น แม่น้ำดำที่ไหลจากที่ราบสูงทางตอนเหนือของแคว้นตังเกี๋ย
พื้นที่สามเหลี่ยม (Delta)  ที่เกิดจากแม่น้ำมา แม่น้ำซู และแม่น้ำคา ทำให้เกิดที่ลุ่มขยายลงมาทางส่วนใต้ตอนใกล้ทะเล
                แคว้นตังเกี๋ยเป็นดินแดนที่กว้างขวางที่สุดของเวียดนาม มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ระยะทางจากเหนือจรดใต้ประมาณ ๓๘๐ กิโลเมตร และจากตะวันออกจรดตะวันตก ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร
                พื้นที่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำแดง  เป็นพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เป็นภูเขาหินปูน ความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าที่ราบตังเกี๋ยมาก
แม่น้ำที่สำคัญในบริเวณนี้คือแม่น้ำดำ  ซึ่งไหลผ่านเข้าไปในภูเขาแคบ ๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดแก่พื้นที่แม่น้ำดำไหลขนานไปกับแม่น้ำแดง แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำแดงทางเหนือของกรุงฮานอย กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก
                พื้นที่แคว้นอันนัม  เป็นที่ราบแถบริมฝั่งทะเลยาวตลอดลงไปทางใต้ ทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขาสูงกั้นเขตแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลลงสู่ทะเล ทางด้านทิศตะวันออก
ภูเขา แม่น้ำ และที่ราบ






ภูเขา  แบ่งออกได้เป็นสามบริเวณคือ
                    บริเวณภาคเหนือของแคว้นตังเกี๋ย  เป็นบริเวณพื้นที่ทางตะวันออกของแม่น้ำแดง แยกออกเป็นบริเวณย่อย ๆ ได้ สามบริเวณคือ
                        - บริเวณแม่น้ำขาว  กับชายทะเล เป็นบริเวณที่กว้างที่สุด ประกอบด้วยทิวเขา และสันเขา เป็นรูปโค้งซ้อนทับกัน หันเข้าหาทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอยู่สี่ทิวเขาด้วยกันคือ ทิวเขาซองกำ (Soug Gam) อยู่บริเวณตอนกลางของแม่น้ำดำ มีหุบเขาอีกและทะเลสาปหลายแห่ง มียอดสูงสุดประมาณ ๑,๙๗๐ เมตร  ทิวเขางามซัน (Ngan Son) มียอดสูงสุด ๑,๙๓๐ เมตร,  ทิวเขาบัคซัน ( Bac Son) เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเทือง (Song Thuang) หุบเขานี้มีความลาดชันมาก เป็นช่องทางเชื่อมมณฑลกวางสีของจีนกับเมืองลังซัน (Long Son) ของเวียดนาม  ทิวเขาดองเตรียม (Dong Triam) เริ่มจากเมืองฟูลงเทือง (Phu Long Thuang)  ไปจรดชายแดนประเทศจีน มียอดสูงสุด ๑,๕๐๐ เมตร ตอนกลางของทิวเขามีถ่านหินอุดมสมบูรณ์มาก
- บริเวณเมืองไทงูเย็น (Thai Ngu Yen)   เมืองตูเย็น (Tuyen)  เมืองเย็นเบ (Yen Bay) และเมืองพูโด (Phu Tho) เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยภูเขาเตี้ย ๆ และหุบเขากว้าง ๆ มีทิวเขาสูงอยู่เพียงยอดเดียวคือ ทิวเขาตันดา (Tan Da ) สูงประมาณ ๑,๕๙๐ เมตร
                        - บริเวณที่ราบสูงติดต่อกับชายแดนจีนในเขตมณฑลยูนาน  ที่ราบ
สูงในมณฑลยูนานของจีน ได้ยื่นเข้ามาทางภาคเหนือของแคว้นตังเกี๋ย ที่ราบสูงเหล่านี้มีลักษณะเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันมาก ประกอบด้วย ที่ราบสูงปางคาน (Pang Khan)  มีทิวเขาซองเซ (Song Chay)  มียอดสูงประมาณ ๒,๔๓๐ เมตร ที่ราบสูงพูทาคา (Pou Tha Ca) และที่ราบสูงดองตวน (Dong Tuan)  ซึ่งอยู่ในเมืองเคาบัง (Cao Bang) และเมืองลังซัน (Long Son) เหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสั้น ๆ ไหลไปบรรจบแม่น้ำซีเกียว (Si Kiang) ในประเทศจีน
                    ทิวเขาบริเวณแม่น้ำแดงกับแม่น้ำโขง  เป็นบริเวณที่มีทิวเขาหนาแน่นที่สุด ทิวเขาเหล่านี้มีทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้
                        - ทิวเขาฟานสีฟัน (Fan Si Pan)  อยู่ระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำ มีความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร สูงสุดประมาณ ๒,๙๘๐ เมตร มีที่ราบสูงทายังพัน (Ta Yang Pan) ซึ่งมีความสูงถึง ๒,๐๐๐ เมตร ทางทิศใต้ของทิวเขาฟานสีฟัน จนถึงที่ราบสูงตรันนินห์ (Tran Ninh) ในประเทศลาว พื้นที่ประกอบด้วยทิวเขาที่มีทิศทางจากตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิวเขาเหล่านี้ก่อให้เกิดลำน้ำและที่ราบเล็ก ๆ ทั้งสองฝั่งของลำน้ำคือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำ เริ่มตั้งแต่เมืองไลเจา (Lai Chau) จนถึงหัวบินห์ (Hoa Binh) ต่อไปจนถึงเมืองวูบาน (Yu Ban) และเมืองฟูโนกวาน (Phu Nho Quan)
                        ที่ราบสูงตั้งแต่ชายแดนติดต่อกับมณฑลยูนาน ประเทศจีนจนถึงที่ราบสูงซองลา (Song la) และที่ราบสูงมอค (Moc)
                        - ทิวเขาตรันห์หัว (Tharh Hoa)  อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมา (Song Ma) ทางตอนเหนือ ทิวเขาอันนัมในแคว้นอันนัมตอนเหนือ  เป็นทิวเขาที่ยาวเหยียดจากบริเวณที่ราบสูงตรันนินห์ (Tran Ninh) ในประเทศลาว ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และขนานกับชายทะเล จากทางตอนเหนือของแคว้นไปสุดทางใต้ของเวียดนาม ทิวเขานี้มีความสูงไม่มากนัก บางตอนแคบมาก และเป็นหน้าผาขัน เป็นทิวเขาที่แบ่งประชากร ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของภูเขา
                แม่น้ำ  แยกออกได้เป็นสองบริเวณคือ










แม่น้ำบริเวณแคว้นตังเกี๋ย  มีแม่น้ำที่สำคัญอยู่สองสายคือ
                        - แม่น้ำแดง  มีความยาวประมาณ ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่ในเขตมณฑลยูนาน ประเทศจีน มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำแดงไหลเข้าเขตประเทศเวียดนาม ในเขตเมืองลาวกาย (Loa Kay) และมีความยาวจากเมืองลาวกาย จนถึงปากแม่น้ำที่ไหลไปลงสู่ทะเล มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ระหว่างเมืองลาวกาย และเมืองเยนเบ (Yan Bay) มีเกาะแก่งอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ มีแควสำคัญ ๆ ของแม่น้ำแดงคือ
                        ทางฝั่งขวามีแม่น้ำดำ และแควนำมู (Nam Mou)
                        ทางฝั่งซ้ายมีแม่น้ำขาว และแควของแม่น้ำขาว ที่สำคัญอีกสามสาย
                        จากตัวเมืองเวียตตรี แม่น้ำแดงเริ่มไหลเข้าสู่ที่ราบลุ่ม และแยกออกไปเป็นหลายสาย ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีน ในอ่าวตังเกี๋ย สายที่สำคัญคือ แม่น้ำเดย์ (Day) คลองเรปิด (Rapid Canel) และคลองแบบบัว ได้เชื่อมแม่น้ำแดงกับแม่น้ำไทยบินห์ (Thai Binh)
                        ปริมาณน้ำในแม่น้ำแดง ในฤดูแล้งกับฤดูน้ำ มีความแตกต่างกันมาก ฤดูน้ำมากอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม น้ำในแม่น้ำแดงมีระดับสูง ไม่เป็นเวลาไม่แน่นอน แล้วแต่ปริมาณฝนตกบนภูเขา
                        - แม่น้ำไทยบินห์ (Thai Binh)  มีความยาวไม่มาก โดยเริ่มต้นจากจุดรวมของแควซองคัด (Song Cad) และซองตัง (Song Thoung) ไปถึงบริเวณที่จรดกับคลองเรปิด ต่อจากนั้นแม่น้ำไทยบินห์ ก็กลายเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำแดง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง
                        บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง มีแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อย มาเชื่อมติดต่อกัน แล้วไหลลงสู่ทะเลจีน ในอ่าวตังเกี๋ย บริเวณนี้ปรากฏว่า มีน้ำท่วมอยู่บ่อย ๆ จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อให้ใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ ในบางแห่งสามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง
                        - แม่น้ำบริเวณตอนเหนือของแคว้นอันนัม  ทางตอนเหนือของแคว้นอันนัม มีทิวเขาอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลมากกว่าทางตอนใต้ลงไป แม่น้ำบริเวณนี้จึงมีความยาวกว่าแม่น้ำซึ่งเกิดจากทิวเขาอันนัม ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศลาว แม่น้ำเหล่านี้จะไหลลงสู่ทะเล ทางด้านทิศตะวันออก มีแม่น้ำที่สำคัญ ๆ คือ แม่น้ำชู (Song Cho) และแม่น้ำมา (Song ma) มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ไหลลงสู่ทะเลจีนในบริเวณเมืองทันหัว (Than Hoa) มีที่ราบลุ่มระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ และบริเวณปากน้ำใช้ในการเพาะปลูก ต้นน้ำของแม่น้ำดังกล่าว อยู่ในแคว้นซำเหนือของประเทศลาว  แม่น้ำคา (Song Ca) เกิดจากที่ราบสูงตรันนินห์(Tran Ninh) ในประเทศลาว ไหลลงสู่ทะเลจีนบริเวณเมืองวินห์ (Yinh)  แม่น้ำเบนไฮ เป็นแม่น้ำสำคัญอีกสายหนึ่ง เดิมใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเวียดนามเหนือ กับเวียดนามใต้ ที่เส้นขนานที่ ๑๗ องศาเหนือ
                ที่ราบ  เป็นที่ราบซึ่งไม่กว้างขวางนัก ส่วนมากจะอยู่แถบชายทะเล หรือระหว่างสองข้างของแม่น้ำ
                    ที่ราบลุ่มแคว้นตังเกี๋ย หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง  เป็นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุด ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๐ - ๑๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในที่ราบนี้มีบริเวณเนินเขาที่เป็นหินบ้างเล็กน้อย ทางทิศใต้มีทิวเขาหินปูน บริเวณเมืองทันห์หัว (Thanh Hoa) ติดต่อกันโดยผ่านช่องเขาดองเกียว
                    ที่ราบทันห์หัว (Thanh Hoa)  อยู่ในแคว้นทันห์หัว หรือในบริเวณลุ่มแม่น้ำมา และแม่น้ำชู มีพื้นที่กว้างขวาง รองลงมาจากที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ใช้ในการเพาะปลูก
                    ที่ราบไงอัน ( Nghi An)  อยู่บริเวณรอบ ๆ เมืองวินห์ (Yinh) หรือบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำคา
                    ที่ราบฮาเตียน (Hatinh)  อยู่บริเวณเมืองฮาเตียน จากที่ราบแห่งนี้ต่อลงไปทางใต้ มีที่ราบชายฝั่งทะเล มีลักษณะแคบยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเล ผ่านเมืองดองฮอย (Dong Hoi) ไปจนถึงที่ราบเมืองกวางตรี(Quoang Tri) และเมืองเว้ (Huc) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป
การคมนาคมขนส่งทางบก








ถนน  ถนนที่มีอยู่อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้คือ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด ทางหลวงท้องถิ่น และทางที่รถยนต์พอจะเดินได้ในบางฤดูกาล
                บริเวณที่มีทางหลวงมากที่สุดคือ ในแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งฝรั่งเศสสมัยที่ปกครองเวียดนามอยู่ ได้สร้างขึ้นไว้สำหรับติดต่อกับประเทศจีน และประเทศลาว นอกจากนั้นเป็นถนนที่ติดต่อระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัด
                    ถนนหมายเลข ๑  เรียกว่า ถนนสายแมดาริน (Mandarine Route)  เป็นถนนสายสำคัญที่สุด และเป็นสายที่ยาวที่สุด สร้างขึ้นในคริสตศตวรรษที่๑๙ สมัยจักรพรรดิ์ญวน เริ่มต้นที่เมืองลังซัน (Long Son) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย หรืออยู่ทางทิศใต้ของมณฑลกวางสี เป็นเมืองชุมทางที่สำคัญ มีถนนหมายเลข ๔ ขนานกับเขตแดนจีน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงเมืองคาวบัง (Coa Bang) และในระหว่างทางที่เมืองดองเดง (Dong Deng) มีทางแยกไปยังเมืองปิงเซียง (Ping Siang) ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน
ถนนสายแมนดาริน (Mandarien)  เริ่มจากเมืองลังซัน (Long Son) ไปยังเมืองฮานอย แล้วผ่านไปยังเมืองนินห์บินห์ (Ninh Binh) ขนานไปับชายฝั่งทะเล ผ่านเมืองสำคัญคือ ทันห์หัว (Thanh Hoa) ดองฮอย (Dong Hoi) ลงมาทางใต้ถึงเมืองกวางตรี ผ่านเมืองต่าง ๆ ไปถึงเมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) พนมเปญ มาจดชายแดนไทยในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
                    ถนนหมายเลข ๒  ตั้งต้นจากเมืองฮานอย ผ่านที่ราบสูงตังเกี๋ยขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เลียบไปตามฝั่งแม่น้ำขาว ผ่านเมืองฟูเยน (Phou Yen) วินห์เยน (Vinh Yen) ฮูเยนกวาง (Hu Yen Quang) บัคกวาง (Bac Quang) ไปสุดทางที่เมืองฮาเกียง (Ha Giang)
                    จากเมืองฮาเกียง มีถนนของจังหวัดติดต่อกับเมืองเวนซาน ( Wen Shan) ในมณฑลยูนาน ประเทศจีน ที่เมืองบัคกวาง มีถนนแยกทางซ้ายไปสู่เมืองลาว
กาย (Lao Kay)
                    ถนนหมายเลข ๓  ตั้งต้นจากเมืองฮานอย ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ระหว่างถนนหมายเลข ๑ และหมายเลข ๒ ผ่านไปเมืองไทงวูเยน บัคคาน (Bac Kan) แล้วแยกออกเป็นสองสาย ทางซ้ายไปยังเมืองบางลัค (Bao Lac) ทางขวาไปเมืองคาวบัง (Cao Bang) ทั้งสองเมืองดังกล่าวอยู่ติดกับเขตแดนวประเทศจีน
                    ถนนหมายเลข ๔  อยู่ทางภาคเหนือสุดของประเทศ เริ่มต้นจากเมืองมอนเก (Mon Cay) เลียบตามชายแดนประเทศเวียดนามกับจีน ผ่านเมืองลังซวอน เมืองคามบัง ไปยังเมืองบางลัค
                    ถนนหมายนเลข ๕  ติดต่อระหว่างเมืองฮานอยกับเมืองไฮฟอง (Hai Pong) ใช้ในการลำเลียงขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองไฮฟองไปยังเมืองฮานอย
                    ถนนหมายเลข ๖  ตั้งต้นจากเมืองฮานอยไปทางทิศวตะวันตกผ่านเมืองฮาดอง (Ha Dong) หัวบินห์ ขนานไปกับลำน้ำดา (Song Da) ผ่านเมืองซองลาไปสุดที่เมืองไลเจา (Lai Chau) ในประเทศจีน
                    ระหว่างเมืองโซโบ (Cho Bo) กับเมืองซอนลา มีถนนสามสายที่แยกเข้าสู่ประเทศลาว ในแคว้นวำเหนือ
                    ระหว่างเมืองซอนลากับเมืองไลเจา มีทางแยกไปเมมืองเดียนเบียนฟู และเข้าไปสู่ประเทศลาวทางแคว้นพงสาลี
                    ถนนหมายเลข ๗  แยกจากถนนสายแมนดาริน ที่ฟูเดียนเจา (Phu Dien Chau) ไปทางทิศตะวันตก เลียบไปทางทิศใต้ของแม่น้ำซองคา ผ่านช่องเขาบาเทเลมี (Ba The lemy) ไปยังเมืองเชียงของและเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว
                    ถนนหมายเลข ๘  เริ่มต้นจากเมืองรินห์ไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ประเทศลาว โดยผ่านช่องเขาเหนือ (Ke4o Neva) ผ่านนาเป (Nape) ลัคเซา  (Lak Sao) คำเกิด ไปบรรจบกับถนนระหว่างท่าแขก - ปากซัน เวียงจันทร์ ในประเทศลาว
                    ถนนหมายนเลข ๙  เริ่มต้นจากเมืองฮาเตียน (Ha Tinh) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านช่องเขามูเกีย (Mu Gia) ผ่านบ้านนาเผาถึงเมืองท่าแขกในประเทศลาว
                    นอกจากถนนสายวสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังมีถนนที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองต่อเมืองอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำแดง และระหว่างเมืองตาม                    ชายฝั่งทะเล
                ทางรถไฟ  ฝรั่งเศสได้สร้างทางรถไฟไว้ในเวียดนาม ในสมัยที่ปกครองเวียดนามอยู่หลายสายด้วยกัน สายที่ยาวที่สุดคือ สาย Trans Indochina   เชื่อมต่อระหว่างเมืองฮานอย กับเมืองไซ่ง่อน ทางรถไฟในเวียดนาม สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศจีนได้ นอกจากนั้นฝรั่งเศส ยังได้สร้างทางรถไฟสายตะวันตกเฉียงเหนือ ของเมืองฮานอย ผ่านเมืองลาวกาย เข้าไปในประเทศจีนในเขตมณฑลยูนานถึงเมืองคุนยิง
                    ทางรถไฟสายฮานอย - ไซ่ง่อน  เลียบชายฝั่งทะเลขนานกับถนนสายแมนดาริน ผ่านเมืองที่สำคัญคือเมืองฟูลี นามคินห์ ทัมหัวห์และเมืองวินห์
                    ทางรถไฟสายฮานอย - ลังซอน - นัมกวาน (Num Kwan)  ติดต่อเข้าไปยังมณฑลกวางสี ประเทศจีน ยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร
                    ทางรถไฟสายฮานอย - ไฮฟอง  เป็นทางรถไฟสายสั้น ๆ มีสะพานข้ามแม่น้ำแดงแห่งหนึ่ง ยาวปรนะมาณ ๑,๖๘๐ เมตร
                    ทางรถไฟสายฮานอย - ลาวกาย - คุนมิง  มีความยาวประมาณ ๒๗๐ กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศจีน ผ่านเมืองเมงจือ (Meng Tzu) ทางรถไฟตัดผ่านช่องเขาและซอกเขา เป็นทางชัน ตัดผ่านอุโมงถึง ๑๗๐ แห่ง
                ช่องเขา  ถนนติดต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ ในตอนเหนือของเวียดนาม ส่วนมากตัดผ่านภูเขา โดยเลียบไปตามเชิงเขาและแม่น้ำ
                    ถนนหมายเลข ๑  ตอนจากเมืองฮานอยลงมาทางใต้ ต้องตัดผ่านช่องเขาหลายแห่ง ที่สำคัญคือช่องเขาระหว่างเมืองเว้และตุราน
                    ถนนหมายเลข ๗  จากเมืองฟูเดียนเจา แยกจากถนนหมายเลข ๑ ไปยังเมืองเชียงขวาง และเมืองหลวงพระบางของประเทศลาว จะผ่านช่องเขาบาเทเลมี
                    ถนนหมายเลข ๘  จากเมืองวินห์ไปยังเมืองคำเกิดในประเทศลาว จะผ่านช่องเขาเหนือ ที่บริเวณนาเป
                    ถนนหมายเลข ๙  จากเมืองฮาเตียนห์ ไปยังเมืองท่าแขกของประเทศลาว จะผ่านช่องเขามูเกีย






การคมนาคมขนส่งทางน้ำ  แต่ก่อนการคมนาคมขนส่งทางบกมีน้อย และก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาปกครองเวียดนามนั้นทางรถไฟยังไม่มี ชาวเวียดนามจะใช้แม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ เป็นทางสัญจรและขนส่ง โดยใช้เรือขนาดต่าง ๆ ที่เหมาะกับความลึกของแม่น้ำ
            ในพื้นที่ตอนเหนือมีแม่น้ำแดง แม่น้ำไทยนินห์ ส่วนแม่น้ำในแคว้นอันนัม ที่เกิดจากทิวเขาอันนัมเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ แคบ และกระแสน้ำไหลเชี่ยว ไม่เหมาะแก่การขนส่งทางน้ำ
                ในแคว้นตังเกี๋ย  ในแม่น้ำแดง ฝรั่งเศสได้ทำเขื่อน และวางทำนบกั้นน้ำ เพื่อใช้ในการเดินเรือ ได้ระยะยาวไกล และใช้ได้ทุกฤดูกาล ในฤดูน้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม ลำน้ำนี้จะใช้ได้เป็นระยะทางประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตร เรือกลไฟจะแล่นไปได้ถึงเมืองวางกาย และในแม่น้ำดำจะไปได้ถึงเมืองไชโย ในฤดูแล้งเรือกลไฟแล่นในแม่น้ำแดงได้เพียงประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร
                ในพื้นที่สามเหลี่ยมของแคว้นตังเกี๋ย การคมนาคมแบ่งออกเป็นสองตอนคือ
                    ทางแม่น้ำแดงกับแม่น้ำไทยมินห์  แม่น้ำทั้งสองติดต่อกันได้โดยใช้คลองขุด การคมนาคมนับว่าสดวกมีทางน้ำที่ใช้เดินเรือได้เป็นระยะทางประมาณ ๓,๓๐๐ กิโลเมตร
                    ในแคว้นอันนัมตอนเหนือ  ในเขตนี้มีแม่น้ำมา แม่น้ำชู และแม่น้ำเกียว เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ไม่เหมาะแก่การขนส่งทางน้ำ เพราะตอนปากแม่น้ำกว้างและตื้น มีสันทรายขวางอยู่ กั้นไม่ให้ติดต่อกับทะเลได้สะดวก ในฤดูแล้งน้ำตื้น ส่วนในฤดูน้ำกระแสน้ำไหลเชี่ยว พอใช้ในการลำเลียงขนส่งได้ในระยะทางไม่ไกลนัก
            การคมนาคมขนส่งทางทะเล  แม้ว่าเวียดนามจะมีชายทะเลยาวมาก ประมาณ ๑,๒๕๐ กิโลเมตร ตลอดแนวเขตประเทศด้านทิศตะวันออก แต่ไม่มีอ่าวสำหรับจอดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ พอที่จะใช้เป็นท่าเรือได้
                ชายทะเลระหว่างเมืองมงไค (Mong Cai)  และเมืองไฮฟอง  เป็นบริเวณที่มีอ่าวและเกาะมากที่สุด เกาะเหล่านี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ทางทิศเหนือเป็นเกาะใหญ่ ขนานกับชายทะเลได้แก่ เกาะไกโย (Cai Bau) ทางทิศใต้ประกอบด้วยเกาะเล็ก เกาะน้อย และมีหินโผล่ขึ้นมาจากพื้นน้ำในบริเวณอ่าวอลอง (Along) และอ่าว Faitsi Long ทางทิศตะวันออกของเมืองไฮฟอง มีเกาะใหญ่อยู่เกาะหนึ่งชื่อ เกาะแคทบา (Cat Ba) และมีหมู่เกาะเล็ก ๆ ต่อไปทางทิศตะวันออก
                ระหว่างเมืองไฮฟองกับเมืองดองฮอย  ชายทะเลตอนนี้ไม่มีอ่าวสำคัญ ชายทะเลแถบนี้มีแหลมยื่นออกมาบ้าง และในบางตอนประกอบด้วยเนินทรายสูง แผ่เข้าไปในแผ่นดิน เนินทรายบางแห่งสูงถึง ๔๐ เมตร เช่น เนินทรายที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองดองฮอย
                บริเวณมุยรอน (Mui Ron)  มีหาดหน้ากว้าง ๑๐ กิโลเมตร ใกล้ถนนสายหลักคือ ถนนหมายเลข ๑ หรือถนนสายแมนดาริน
                บริเวณตอนปากน้ำ  มีอยู่เพียงสองแห่ง ที่พอใช้ได้คือ ที่ดองฮอย และที่แม่น้ำเคียนเกียว ใกล้มุยรอน ที่ดองฮอยใช้ได้สำหรับเรือขนาดเล็ก และกินน้ำตื้น ส่วนที่แม่น้ำเคียนเกียว ใช้เรือขนาดเล็กกินน้ำตื้นเข้าไปในลำน้ำได้ถึง ๑๐ กิโลเมตร
                สรุปแล้วการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วใช้ท่าเรือเมืองไฮฟองได้เพียงแห่งเดียว มีเรือเดินทะเลเข้าไปขนส่งสินค้าติดต่อกับฮ่องกง และเมืองท่าต่าง ๆ ของประเทศจีน เช่น กวางตุ้ง เอ้หมิง เซี่ยงไฮ้ ทางด้านเหนือและตะวันออก และติดต่อกับสิงคโปร์และอินเดีย ทางด้านใต้และตะวันตก นอกจากนั้นยังติดต่อกับญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์อยู่บ้าง
ประชากร







ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติเวียดนามแท้ ประมาณร้อยละ ๘๕ เป็นชาวจีนประมาณร้อยละ ๒ ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยประมาณร้อยละ ๑๔ ประกอบด้วย ชาวโม้ง ( Muong) ไท (Thai) แม้ว (Meo) เขมรมอญ (Mon) จาม (Cham)
            ดินแดนเวียดนาม แต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกมอย (Moi) ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กันหลายสิบเผ่า มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับชาวข่าบางเผ่าในประเทศลาว จัดเข้าอยู่ในตระกูลมอญ - เขมร และบางเผ่าในตระกูล ชวา - มลายู พวกมอยมีอยู่มากกว่าล้านคน ส่วนมากอาศัยอยู่ตามภูเขาเหนือไซ่งอน ขึ้นไปจนเหนือเส้นขนานที่ ๑๗ พวกนี้ไม่มีตัวหนังสือใช้ เคร่งครัดในลัทธิไสยศาสตร์ นับถือผีสาง เทวดา อย่างยิ่ง ไม่ชอบพบคนแปลกหน้า
            นอกจากพวกมอยแล้ว ขนกลุ่มน้อยในเวียดนามอีกพวกหนึ่งคือ พวกไทย บรรพบุรุษของพวกไทยอพยพจากประเทศจีน เมื่อประมาณต้นพุทธกาล เข้ามาตามลุ่มน้ำต่าง ๆ อย่างช้า ๆ ในที่สุดได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นตังเกี๋ย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มคือ
                    ผู้ไทยดำ  อยู่ในเขตสิบสองจุไทย แถบแม่น้ำซองมา แม่น้ำดำ เมืองซอนลา เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เมืองฮุง เมืองลอย
                    ผู้ไทยขาว  อยู่ในแถบเมืองไลเจา ใกล้เคียงกับไทยดำ ไทยโท้ ไทยนุง
                    ไทยโท้  อยู่รอบ ๆ บริเวณที่ราบสามเหลี่ยมแม่น้ำแดง ทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือของเมืองฮานอย
                    ไทยนุง  อยู่ตามพรมแดนตังเกี๋ย และมณฑลกวางสีของจีน
                    ยาง  อยู่ในเขตเมืองห้ายาง ทางทิศตะวันออกของเมืองเผาลัก ตรงปากน้ำแคลร์กับน้ำโล
                    มีชนอีกพวกหนึ่ง อยู่ตอนกลางของแคว้นตังเกี๋ยคือ พวกเมือง (Moung) ซึ่งเป็นชาติผสมเวียดนาม ชวา และไทย มีภาษาพูดคล้ายพวกเวียดนามมาก ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเชิงเขา บริเวณใกล้กับเมืองฮานอย และตะวันตกเฉียงใต้ลงไป ตามภูเขากั้นพรมแดนลาว ตรงกับเมืองวินห์ นับว่าเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของเวียดนาม ทางตอนเหนือด้วยเหมือนกัน
                    มีชนอีกสองพวกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเวียดนามตอนเหนือคือ พวกแม้ว และพวกหม่าน
                    พวกแม้ว  แบ่งออกเป็นสี่พวกคือ แม้วขาวแดง แม้วสาย แม้วดำ และแม้วขาว อาศัยอยู่ตามเมืองชายแดน ที่ติดต่อกับประเทศจีน ทางด้านมณฑลยูนาน ในเขตเมืองลาวกาย เมืองจำปา เมืองฟองโท เมืองไลเจา เมืองแถง และเมืองซอนลา
                    พวกหม่าน  แบ่งออกเป็นห้าพวกคือ หม่านตาปัน หม่านลานเถน หม่านกวางก๊ก หม่านเถาลาน และหม่านกวางตัง อาศัยอยู่ตามภูเขาในเขตเมืองฟองโท เมืองไลเจา เมืองลาวกาย ริมฝั่งแม่น้ำแดง เมืองเกายาง เมืองลาวเชิง เมืองเยนบาย เมืองบองกาย และภูเขาแถบเมืองหัวบินห์ ก่อนที่แม่น้ำดำจะไปบรรจบแม่น้ำแดง
ชาวญวน หรือชาวเวียดนาม  เดิมอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ บริเวณมณฑลซีเกียง ฟูเกี้ยน กวางตุ้ง และกวางสี ในปัจจุบัน จัดอยู่ในเผ่าไทย - จีน เพราะภาษาพูดของพวกเวียดนาม มีคำพ้องกับคำไทยในภาษา และคำในภาษาจีนอยู่มาก
                    พวกชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณร้อยละ ๑๕ ของประชากร เวียดนามตอนเหนือนี้ โดยความเป็นมาทางประวัติสาสตร์ เป็นพวกที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับพวกเวียดนาม ในสมัยที่ยังแยกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ รัฐบาลเวียดนามเหนือได้เคยประสบปัญหาของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้อนุมัติให้มีเขตปกครองตนเองของพวกไทย - แม้ว (Thai - Meo Autonomous) มีพื้นที่ประมาณ ๑๙,๕๐๐ ตารางไมล์ มีชนเผ่าต่าง ๆ อยู่ ๒๐ เผ่า ประมาณ ๓๓๐,๐๐๐ คร และมี Viet - Bac Autonomous Area   มีพื้นที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางไมล์ มีชนเผ่าต่าง ๆ ๑๕ เผ่า ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนี้ยังมี Lao - Ha - Yen  Area  อีกด้วย
                ชาวเวียดนามแท้  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่น ตามที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่ราบตามชายฝั่งทะเลตะวันออก และที่ราบตอนใต้
                ชาวจีน  ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในย่านการค้า และตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น เมืองโชลอง เมืองไซ่ง่อน (โฮชิมินห์) และเมืองตามชายฝั่งทะเลทั่วไป ชาวจีนที่อยู่ในเวียดนามเกือบทั้งหมด ถือสัญชาติเวียดนาม มีการพักรวมกันเป็นกลุ่ม จัดตั้งสมาคมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า แต่ก็มีชาวจีนบางส่วนประกอบอาชีพทางกสิกรรมเลี้ยงสัตว์
                ชาวเผ่าไทย  ประกอบด้วย ไทยขาว ไทยดำ ไทยแดง ไทยลาย ไทยโท้ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด จากบรรดาชนที่ไม่ใช่เวียดนามแท้
                ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามภูเขา เชิงเขา ที่เป็นป่าลึกด้านเหนือ กลาง และตะวันตก และที่ราบสูงภาคกลาง พวกนี้มักไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชอบอพยพเปลี่ยนที่อยู่เรื่อยไป ไม่นิยมวัฒนธรรมต่างถิ่น ส่วนใหญ่มีความเชื่อในไสยศาสตร์ หาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ ล่าสัตว์ และหาของป่ามาขาย
                ชาวเขมร  อาศัยอยู่ตามบริเวณดินแดนดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กับบริเวณใกล้เมืองฮาเดียน ติดต่อกับแดนเขมร ไปจนถึงบริเวณแหลมที่ยื่นออกไปในทะเลจีน มีอาชีพส่วนใหญ่ในการทำการกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ และการประมง นับถือพระพุทธศาสนา และมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายประชากรในประเทศกัมพูชา
                ชาวจาม  เป็นเจ้าของถิ่นเดิมในดินแดนภาคกลางของเวียดนาม และในภาคใต้ของเวียดนาม แถบชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา แถบเมืองซอด๊อก ไตนินห์และฟานราง ชาวจามเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมสูงเป็นของตนเองมาก่อน วัฒนธรรมของชาวจามที่เหลืออยู่ในเวียดนามคือ วัดโพนาการ์ (Poh Nagar) ซึ่งอยู่ในภาคกลางของเวียดนาม
                ชาวเกาะ  เป็นพวกที่มีเชื้อสายอินเดีย อินโดเนเซีย มลายู ทำมาหากินอยู่ทั่วไปในภาคใต้ของเวียดนาม ในแถบชายฝั่งทะเลเข้ามาจนถึงเขตแดน ที่ติดต่อกับกัมพูชา และลาว และขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองเว้ และเมืองกวางตรี ความหนาแน่นอยู่ในภาคกลางของประเทศ
                เชื้อชาติอื่น ๆ  เป็นชาวต่างประเทศที่เข้าไปประกอบอาชีพเล็กๆ น้อย เป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ทั่ว ๆ ไปตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เจริญแล้ว และตามชายแดนที่ติดต่อกัน เช่น ลาว ไทย ฝรั่งเศส และชาวยุโรปอื่น ๆ
                โดยทั่วไปแล้ว ชาวเวียดนามเป็นชนชาติที่มีนิสัยใจคอมั่นคง มีความขยันขันแข็งในการทำงาน มีความมานะอดทนดีมาก มีความรักชาติ รักอิสรภาพ กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างแน่แฟ้น ในหมู่คนเวียดนามด้วยกันมีความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรง และพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง ที่แปลกใหม่อยู่เสมอ
                ปัจจุบันเวียดนามมีหลายศาสนา และลัทธิ แต่ระบบโครงสร้างของสังคมมีพื้นฐาน และได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อมาก ชาวเวียดนามถือว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานความเป็นอยู่ ดังนั้นที่ดินของบรรพบุรุษจึงถือเป็นกรรมสิทธิร่วมกันทั้งครอบครัว มีความเคารพนับถือวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความยึดมั่นในลัทธิศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบเนื่องกันมาแต่เดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น